แตงโมหวานขึ้นชื่อ เลื่องลือลิงป่า ไทญ้อทรงคุณค่า ยางพาราเขียวขจี ข้าวปลามากมี ถิ่นนี้คือนาคำ

Nakam Subdistrict Municipality.

โทรศัพท์ : (สำนักปลัด) 042-190234 (กองคลัง) : 042-190285

บ้านคำสะอาด


ผู้เขียน: administrator admin , วันที่: 6 ก.พ. 2567
135, หมวดหมู่:ข้อมูลหมู่บ้าน

ข้อมูลพื้นฐาน

ข้อมูลบุคลากร

แผนพัฒนาท้องถิ่น

แผน ปปท./ควบคุมภายใน/ตรวจสอบภายใน

งานกิจการสภา

การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ

 

 ประวัติหมู่บ้านคำสะอาด

 

  บ้านคำสะอาด  ตั้งเมื่อประมาณ  พ.ศ.  2517  หรือประมาณ  23  ปี  ผ่านมาแล้ว  โดยชนกลุ่มแรกที่อพยพมาอยู่ที่บ้านคำสะอาดเป็นคนที่มาจากชาวบ้านเหล่า  บ้านนาคำ และบ้านนาชุม  ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มญ้อและภาษาที่ใช้ก็เป็นภาษาญ้อ  เดิมบ้านคำสะอาดชื่อ  “บ้านเหล่าเตาถ่าน”  เหตุที่ตั้งชื่อบ้านเตาถ่าน  ก็เพราะว่าราษฎรที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนเป็นชาวบ้านเหล่า  มาประกอบอาชีพทำเตาเผาถ่านขาย  เนื่องจากภูมิประเทศเป็นป่าทึบ  มีไม้เป็นจำนวนมาก เลยตั้งชื่อหมู่บ้านว่า  “บ้านเหล่าเตาถ่าน”

  ต่อมาเมื่อปี  พ.ศ.  2526  ได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นบ้าน  “คำสะอาด”  สันนิษฐานเนื่องจากว่า  ในหมู่บ้านมีลำห้วยเล็ก ๆ  เรียกว่า  “ห้วยคำบอน”  ชาวบ้านได้พากันมาขุดบ่อริมลำห้วยสำหรับไว้  ดื่ม  กิน  บ่อน้ำที่ขุดมีความใสสะอาดมาก   จึงตึ้งชื่อหมู่บ้านว่า  “บ้านคำสะอาด”  ในที่สุด  ปัจจุบันบ้านคำสะอาดมีความเจริญมาก  การคมนาคมสะดวกสบายมาก  มีถนนลาดยางสายศรีสงคราม – ดอกแก้ว  ผ่านกลางหมู่บ้านในการที่จะไปตัวจังหวัดหรือไปที่อำเภอศรีสงคราม  บ้านคำสะอาดเป็นหมู่บ้านที่สร้างบ้านเรือนยาวไปตามถนนสายนี้  ระยะทางจากสามแยกบ้านนาเดื่อซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของหมู่บ้าน  ทอดไปทางบ้านภูกระแตไปสิ้นสุดที่บ้าน  “หนองกระต่าย” (อยู่ในเขตปกครองของบ้านคำสะอาด)  ระยะทางยาวประมาณ  8  กิโลเมตร

  บ้านคำสะอาด  แบ่งการปกครองเป็น  2  หมู่บ้าน  เมื่อปี  พ.ศ.  2545  บ้านคำสะอาดได้แยกหมู่บ้าน  ออกเป็น  2 หมู่คือ  หมู่ที่  9  และหมู่ที่  15  มีผู้ใหญ่บ้าน และ ส.อบต ดังนี้

  1.  นายเทิดศักดิ์  บุญญา     ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 9

  2.  นายฉลวย  วิลัยรัตน์       ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่  15

  3. นายภานุวัตน์  วุฒิวิสุทธิ์   ส.อบต.  หมู่ที่  9  

  4. นายวรธรรม ภาคทอง       ส.อบต  หมู่ที่  9

  5. นางสาวกัลยา  ชายกวด   ส.อบต.  หมู่ที่  15

  6. นางวรจักร  โคทังคะ        ส.อบต. หมู่ที่ 15  

  7. นายก้าน สมรฤทธิ์     ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 9 โทร 089-5647626 (คนปัจจุบัน)

  8. นายนิรันดร์ เรืองวรบูรณ์   เป็นกำนัน หมู่ที่ 15     โทร 081-0569830 (คนปัจจุบัน)

 

  ชาวบ้านคำสะอาดส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเกือบทั้งหมู่บ้าน  คิดเป็นร้อยละ  95  มีศาสนาอื่นเข้ามาปะปน  ได้แก่ศาสนาคริสต์ ที่หมู่บ้านเล็กๆที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เรียก “บ้านหนองกระต่าย” มีผู้นับถือประมาณ 5 ครอบครัว หรือประมาณ 20 คน

 

ที่ตั้งของหมู่บ้าน

  บ้านคำสะอาด  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดนครพนม  อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ  55  กิโลเมตร  ห่างจากตัวอำเภอศรีสงคราม  10  กิโลเมตร  ห่างจากตัวอำเภอศรีสงคราม  10  กิโลเมตร  มีลักษณะที่ราบสูง  มีป่าเป็นส่วนมาก  มีป่าไม้  ล้อมรอบหมู่บ้าน
 

อาณาเขตของหมู่บ้าน

  ทิศเหนือ        ติดต่อกับบ้านคำสว่าง

  ทิศใต้            ติดต่อกับบ้านนาเดื่อ  ตำบลนาเดื่อ  อำเภอศรีสงคราม

  ทิศตะวันออก  ติดต่อกับบ้านโนนรัง

  ทิศตะวันตก    ติดต่อกับบ้านปฏิรูป  ตำบลศรีสงคราม  อำเภอศรีสงคราม

 

สถานที่สำคัญของหมู่บ้าน

  วัด “บุญญาราม”  ไม่มีข้อมูลในการก่อตั้งแต่สัญนิษฐานว่าน่าจะสร้างมาพร้อมกับการก่อตั้งหมู่บ้าน  เนื่องจากตัวศาลาเก่าเป็นแบบโบราณ  ตัวอาคารทำด้วยไม้ทั้งหลัง  ขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างอาคารศาลาวัดหลังใหม่  มีพระจำนวน  3  รูป  วัดอีกแห่งในหมู่บ้าน  คือ  “วัดป่าบ้านคำสะอาด”  ก่อสร้างเมื่อปี  พ.ศ.  2546  มีพระอาจารย์  ไมตรี  กิตติวัณโณ  เป็นเจ้าอาวาท  เป็นวัดที่เคร่งในการปฏิบัติธรรม  ญาติโยมนิยมไปทำบุญที่วัดแห่งนี้มาก

  โรงเรียนบ้านเหล่า  ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.  2482  เมื่อวันที่  5  มีนาคม  นายดวง  อุดานนท์ ดำรงตำแหน่งครูใหญ่  เป็นคนแรก  จัดการศึกษาการเรียนการสอนแบบสหศึกษา  มีชื่อว่า  “โรงเรียนประชาบาลตำบลนาเดื่อ5(วัดบ้านเหล่า)”  โดยใช้ศาลาการเปรียญวัดบ้านเหล่า  เป็นสถานให้การศึกษา  ต้นปี  พ.ศ.  2495  กรมประชาศึกษาเห็นว่าชื่อโรงเรียนที่มีอยู่ไม่เหมาะสมจึงเปลี่ยนเป็นชื่อ  

“โรงเรียนบ้านเหล่า”  มาตลอดจนถึงปัจจุบันนี้  ปลายปี  พ.ศ.  2502  ชาวบ้านได้รวมกันปลูกสร้างอาคารเรียน  และทางราชการได้ให้เงินสมทบในการปลูกอาคารเรียน  จำนวน  25,400  บาท  โดยสร้างอาคารเยนแบบ ป.1 ฉ.  ขนาด 9*27 เมตร เป็นอาคารไม้ยกสูง  และได้ดัดแปลงให้มีมุขยื่นออกด้านนอกและด้านข้าง  ขนาด  4 6*6 เมตร  สร้างเมื่อเดือน  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2503

  ต่อมาเดือน  มีนาคม  พ.ศ.  2503  ได้ย้ายศาลาวัดมาที่โรงเรียนหลังปัจจุบันเพื่อใช้เป็นที่เรียน  ต่อมาเมื่อวันที่  1 ตุลาคม  พ.ศ.  2509  กระทรวงศึกษาธิการได้โอนการศึกษาประชาบาลแห่งชาติ  ในปี  พ.ศ.  2522  ได้งบประมาณจัดสรรการก่อสร้างอาคารเรียน (โรงฝึกงาน)  ราคา  70,000 บาท  

และงบสร้างอาคาร  บบ  ป.1  ฉ.  ขนาด  2  ห้องเรียน  ราคา  200,000  บาท  ในปีพ.ศ.  2523  ได้รับงบประมาณสร้างส้วม  แบบ  พ. 401 จำนวน  5  ที่จำนวนหนึ่งห้อง ราคา  30,000  บาท  และได้รับงบประมาณแบบ  นพ. 001  ขนาด  3  ห้องเรียน  งบ  840,000  บาท  ปีงบประมาณ  2529  ได้รับการก่อสร้างอาคาร  แบบ  สปช. 103  ขนาดสี่  4  ห้องเรียน  จำนวน  1  หลัง  ราคา  590,000 บาท  ถังน้ำฝนแบบ ฝ.33  จำนวน  1  ชุด  ราคา  35,000 บาท  และต่อเติมอาคารเรียน  แบบ  นพ. 001  ให้เป็นสำนักงานกลุ่มโรงเรียนบ้านนาคำ(ในขณะนั้น) โดยใช้งบประมาณ  107,800  บาท  ปี  พ.ศ. 2530  ได้รับงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตบอลและสนามวอลเลย์บอล  ของกลุ่มโรงเรียนบ้านเหล่า

 

อาชีพของราษฎร

  1.  การทำสวนยางพารา

   การทำสวนยางพารา  เป็นอาชีพใหม่ของชาวบ้านเดิมทีราษฎรส่วนใหญ่ทำนา  ทำไร่มันสำปะหลัง  ปีพ.ศ. 2538  รัฐบาลได้ส่งเสริมให้ราษฎรในเขตตำบลนาคำปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกกัญชา  จึงได้มีการปลูกยางพารา  เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน  

 

 

  2.  การทำสวนแตงโม

  การทำสวนแตงโม  เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ชาวบ้านได้ปลูกกันรองจากการปลูกยางพารา  ผู้ที่ริเริ่ม ในการปลูกแตงโม  คือนายวิเชียร  บุพศิริ(ลูกสาว)  หรือเจ้เตือน  เจ้าของไร่  “กสิกิจ”  นอกจากจะเป็น

ผู้ริเริ่มในการปลูกแตงโมแล้วยังเป็นแรกที่ทำให้ส้มสายพันธุ์โชกุล,  ส้มโอหวาน, มะละกอพันธุ์ฮาวาย, และแก้วมังกร  การปลูกแตงโมทำรายได้ให้กับหมู่บ้านมากผลผลิตที่ได้สามารถส่งออกไปจำหน่ายที่ตลาดไทที่กรุงเทพฯ  หากเอ่ยชื่อ  “แตงโมเจ้เตือน” รับรองเรื่องคุณภาพ

 

ทำความรู้จักกับผู้ริเริ่มปลูกแตงโม

  อำเภอศรีสงคราม  อยู่ห่างจากตัวจังหวัดนครพนมไปประมาณ  79  กิโลเมตร  เป็นอำเภอที่มีแม่น้ำสงครามไหลผ่าน  หล่อเลี้ยงสร้างความชุ่มชื้น  เป็นแหล่งที่พบปลาเพาะพันธุ์วางไข่  มีปลามากมายกว่า  100 ชนิด ในต้นเดือนตุลาคมของทุกปี  จะจัดงานเทศกาลกินปลาแม่น้ำสงคราม  ถิ่นนี้มีพื้นที่ที่ปลูกยางพารามากที่สุดของจังหวัด  ขณะเดียวกันมีเกษตรกรส่วนหนึ่งหันมาปลูกพืชไร่ล้มลุกคือแตงโม (Watermelon)  เป็นล่ำเป็นสันกระจายในหลายตำบล  โดยเฉพาะที่ตำบลนาคำ  ถึงขนาดที่ว่าชาวสวนแตงโมชื่อดังเมืองบั้งไฟ  จังหวัดยโสธรมาขอเช่าพื้นที่ปลูก เรียงรายริมถนนหลวงสายหลักกันเลยทีเดียว

  แตงโมของอำเภอนี้  เพิ่งจะมีชื่อเสียงกระฉ่อนเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคและพ่อค้าเมื่อไม่นานมานี้เอง  จนล่าสุดได้สมญานามว่า  “แตงโมเงินล้าน”  หนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกกว่า  200  ราย  เป็นหญิงสาวใหญ่วัยโสดอายุ  36  ปี  คือ  คุณเตือนใจ  บุพศิริ  อยู่บ้านเลขที่  24  หมู่ที่  9  บ้านคำสะอาด  ตำบลนาคำ  อำเภอศรีสงคราม  จังหวัดนครพนม  มีความรู้เป็นทุนเดิม  จบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง  (ปวส.)  จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครพนม  (ปัจจุบันยุบรวมเป็นมหาวิทยาลัยนครพนม)  ในสาขาวิชาเกษตรกรรม  วิชาเอกสัตว์ใหญ่ (โคนม)  แต่หันมาเอาดีในการส่งเสริมให้เกษตรปลูกพืชไร่ทำเงิน

  คุณเตือนใจเล่าถึงเกร็ดประวัติชีวิตว่า  เป็นบุตรสาวคนโตของ คุณพ่อวิเชียร  และ  คุณแม่ลำไพ  ในจำนวนพี่น้อง  5  คน  ปี  2535-2537  เริ่มเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร  โครงการชลประทานน้ำอูนจังหวัดสกลนคร  พอมาปี  2538  เบนเข็มชีวิตมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรของบริษัท  ซันเทคกรุ๊ป  จำกัด  เป็นโรงงานผลิตน้ำมะเขือเทศ  และสับประรดกระป๋องส่งออก  ตั้งอยู่ที่บ้านดอนแดง  ในช่วงทำงานอยู่โครงการชลประทาน  ปลูกยางพาราทิ้งไว้รอให้โตก่อนกรีดทำเงิน  50  ไร่  จ้างแรงงานกรีดได้ผลผลิตยางแผ่น  12,000  กิโลกรัม  ต่อปี  ราคาจำหน่ายช่วงนั้นกิโลกรัมละ  60 บาท  ลงทุนไป  720,000  บาท  ได้กำไรขณะนั้น  500,000  บาทเศษ

  ปี  2539  ช่วงทำงานที่บริษัท  ซันเทคกรุ๊ป  ทดลองปลูกแตงโมจำนวน  30  ไร่  ในจำนวนที่ดิน  150  ไร่  ด้วยตนเอง  ใช้แรงงานในครอบครัวมีน้องสาวและน้องชายรวม  5  คนช่วย  ได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ  กระทั่งปี  2540  จึงริเริ่มและเป็นผู้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกแตงโมเป็นจริงเป็นจังเพื่อการค้า  นอกจากเป็นผู้หาตลาดให้เกษตรกรแล้ว  เบื้องต้นชักชวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ  25  ราย  ในพื้นที่  300  ไร่ แล้วจึงค่อยๆ ขยับขยายส่งเสริมให้ปลูกเพิ่มอีกในอำเภอนาหว้า  บ้านแพง  ท่าอุเทน  ปลูกแตงโมไม่พอยังมีแตงแคนตาลูป  และพืชผักสวนครัวชนิดอื่นๆ  พื้นที่ประมาณ  1,000 ไร่

  คุณเตือนใจ  ในฐานะประธานกลุ่มผู้ปลูกแตงโม  จังหวัดนครพนม  กล่าวว่า  ส่งเสริมให้ปลูกทั้งปีรวม  4  อำเภอ  ยกเว้นระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม  เนื่องจากมีฝนตกชุกไม่คุ้มกับการลงทุน  จากการสำรวจล่าสุดมีเกษตรกรในความดูแล  250  ครอบครัว  พื้นที่ปลูก  2,000  ไร่  เฉพาะสามีภรรยาจะให้ปลูกคนละ  5  ไร่  หากมีบุตรปลูกเพิ่มเป็น  7  ไร่  โดยเน้นให้ทำเอง  ไม่จ้างแรงงาน  ทำในลักษณะกลุ่มเครือข่าย  ทำเองและส่งเสริมเพื่อป้อนผลผลิตออกสู่ตลาดต่อเนื่องตลอดทั้งปี  รวมกลุ่มขายไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง  เริ่มต้นทำตลาดเองและผลิตในคุณภาพเดียวกัน  โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  ปริมาณผลผลิตแทบไม่พอจำหน่ายในพื้นที่และใกล้เคียง  อย่างไรก็ตาม  รายได้ที่ผ่านมาของเกษตรกรเมื่อหักรายจ่ายต่ำสุดต้องมีกำไร  8,000  บาท ต่อไร่ สูงสุด  15,000  บาท  ต่อไร่  แตงโมที่ส่งเสริมปลูกมีทั้งหมด  8  สายพันธุ์  อาทิ  ตอร์ปิโด กินรี  จินตหรา  ไดอานา  สวิสโก ซอนย่า  และแตงโมพันธุ์ไร้เมล็ดพันธุ์ลูกใหญ่และลูกเล็ก  ที่แนะนำมามีทั้งแตงสีเหลืองและแดง  แต่ส่วนใหญ่แล้วปลูกเนื้อในสีแดงกัน

  ประธานกลุ่มผู้ปลูกแตงโม  จังหวัดนครพนม  กล่าวถึงขั้นตอนและเทคนิคการปลูกว่า  เริ่มจากเตรียมดินไถเปิดหน้าดินรอบแรกลึก  30  เซนติเมตร  ตากดินให้แห้งไว้  2  สัปดาห์  ใช้รถไถย่อยดิน

อีกรอบ  ระยะปลูกความกว้าง  6-6.5 เมตร ทำแถวคู่ระยะ  ปลูกระหว่างหลุม 60  เซนติเมตร  ระหว่างแถวห่าง  6  เมตร  ปรับปรุงดินโดยใส่ปุ๋ยคอก 1  ตัน  ต่อไร่  หว่านปูนขาวให้ทั่วเพื่อปรับสภาพดิน  ใช้รถไถเล็กยกแปลงกรีดร่อง  ใส่ปุ๋ย  สูตร  15-15-15  จำนวน  30-50 กิโลกรัม ต่อไร่  แล้วแต่ความสมบูรณ์ของดิน  ก่อนโรยปุ๋ยคอก  ปุ๋ยหมัก  จากนั้นไถยกร่องโดยรถไถเดินตาม  ยกแปลงเสร็จใช้พลาสติกดำคลุมแปลงไว้เพื่อเพาะต้นกล้า  คัดต้นกล้าสมบูรณ์ปลูก 1 ต้น  ต่อ 1  หลุม  ใช้เวลา  12  วัน  จึงย้ายปลูก  1 ต้น  ต่อ  1 หลุม  หลังย้ายปลูก  7-10 วัน  ตัดยอดเพื่อเลี้ยงแขนงไว้  3  แขนง  ต่อต้น  ตัดยอดอีกครั้งให้ปุ๋ยทางดิน สูตร  15-0-0 จำนวน  3 กรัม  ต่อต้น  เมื่อย้ายปลูก  35-40 วัน  จึงจัดแถว  แต่งแขนง  ปล่อยทิ้งไว้ให้ติดลูก  ใช้คนช่วยผสมเกสรระหว่างตัวผู้กับตัวเมียในช่วงเช้ามืด  ก่อน  10.00 น.  ต้องให้เสร็จ  ตัดทิ้งให้ติดต้นละ  3  ลูก  ผ่านไป  7-8 วัน  ตัดแต่งลูกที่มีตำหนิบิดเบี้ยวทิ้งให้เหลือไว้  2  ลูก  ต่อต้น  น้ำหนักเฉลี่ย  3.5-4  กิโลกรัม  ต่อลูก  หลังดอกบาน  30  วัน  จึงจะได้เวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต  น้ำหนักมาตรฐานจะตก  5-8  กิโลกรัม  ต่อลูก  ให้น้ำโดยใช้ปั้มน้ำสูบน้ำจากแม่น้ำสงครามที่ไหลผ่าน  ต่อผ่านสายยางปล่อยตามร่อง  รดน้ำ  3-5 วัน  ต่อครั้ง  แล้วแต่สภาพอากาศ  แตงโมไม่ชอบแฉะ  ต้องการความชื้นสม่ำเสมอ

  เจ้าของสวนแตงโมภายใต้ชื่อ  “กสิกิจ”  และประธานกลุ่มกล่าวด้วยว่า  สวนแตงโมของตน

และครอบครัวแห่งนี้  ได้ใบรับรองของกรมวิชาการเกษตร  Q  ปลอยภัยจากสารเคมี  แต่ถ้าใช้ก็ใช้น้อยภายใต้  GAP ที่อนุญาตให้ใช้  นอกจากปลูกแตงโมยังทำการเกษตรผสมผสานมาตั้งแต่ปี  2545  บนเนื้อที่ 150  ไร่  ประกอบด้วยแตงโม  30  ไร่  ยางพารา  50  ไร่  ส้มเขียวหวาน  5  ไร่  ส้มโชกุน  20  ไร่  ส้มโอ  5  ไร่  น้อยหน่า 10 ไร่  พอปี  2548 ปลูกส้มเขียวหวานเพิ่มเป็น  10  ไร่  รวมถึงปลูกมะละกอ  พริก  และพืชผักสวนครัวหลายชนิด  มีรายได้ปี 2548-2549 จากส้ม  254,000  บาท  ยางพารา  585,000  บาท  มะละกอ  155,000 บาท  และแตงโม  9,700  มีตลาดหลักที่จังหวัดภูเก็ต  และตลาดไท ปี  2548  ได้รับรางวัล  3  รางวัล  ในปีเดียวกัน  คือ  ชนะเลิศการประกวดเกษตรดีเด่น  (สาขาทำสวน)  ระดับจังหวัดนครพนม,  ชนะเลิศการประกวดเกษตรดีเด่นระดับภาคอีสาน,  และรางวัลที่  3  จากการประกวดเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศในสาขาเดียวกัน

  สำหรับตลาดแตงโมของกลุ่มในปีที่ผ่านมา  มีจุดจำหน่ายหน้าสวนแล้ว  และยังส่งไปตลาดไท  

15  ตัน  ต่อวัน  ตลาดสี่มุมเมือง  10  ตัน  ต่อวัน  ภาคเหนือ  24  ตัน  ต่อวัน  ภูเก็ตและนครศรีธรรมราช  8  ตัน  ต่อวัน  นอกจากนี้  ยังส่งจำหน่ายขึ้นห้างสรรพสินค้าชื่อดัง  เช่น  สยามพารากอน  เดอะมอลล์ ในแบรนด์เนมติดสติ๊กเกอร์ไว้บนผลแตงโมภายใต้ชื่อ  “กรีนฟาร์มนครพนม”  อยากรู้ว่าแตงโมของเกษตรชาวไร่  จังหวัดนครพนม  รสชาติอร่อยลิ้นและมีคุณภาพดีแค่ไหน  ได้รับฉายาว่า  “แตงโมเงินล้าน”  ได้อย่างไร  ลองแวะไปพูดคุยกับ  คุณเตือนใจ  บุพศิริ  เจ้าของสวนกสิกิจ  ได้ที่โทร.  (081) 739-3279 และเบอร์น้องสาวคือ  คุณภัทรสุดา  โทร. (081) 964-0455  หรืออยากทราบข้อมูลเบื้องต้น  สำนักงานเกษตรอำเภอศรีสงคราม  โทร. (042-599-166)

  ไปไม่ถูกขับรถไปตามถนนหลวงหมายเลข  212  เส้นทางสายนครพนม-ท่าอุเทน  ผ่าน อบต.ท่าจำปา  ให้เลี้ยวซ้ายสามแยก  ตัดเข้าอำเภอศรีสงคราม  ไปอีกประมาณ  30  กิโลเมตร  ก่อนถึงตัวอำเภอจะเห็นบ้านคำสะอาด ตำบลนาคำ  อยู่ติดริมถนนทางหลวง  บริเวณแถวนี้จะปลูกสวนยางพาราและแตงโมกันเพียบ  ประธานกลุ่มเกษตรกรคนเก่ง  ยินดีตอบปัญหาข้อข้องใจ

gallery


แตงโมหวานขึ้นชื่อ เลื่องลือลิงป่า ไทญ้อทรงคุณค่า ยางพาราเขียวขจี ข้าวปลามากมี ถิ่นนี้คือนาคำ

181 หมู่ 5 ตำบลนาคำ อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม 48150


โทรศัพท์ : (สำนักปลัด) 042-190234 (กองคลัง) : 042-190285

sarabun@nakam.go.th

© 2024 All rights Reserved.  พัฒนาเว็บไซต์โดย  WWW.PHUDESIGN.COM