แตงโมหวานขึ้นชื่อ เลื่องลือลิงป่า ไทญ้อทรงคุณค่า ยางพาราเขียวขจี ข้าวปลามากมี ถิ่นนี้คือนาคำ

Nakam Subdistrict Municipality.

โทรศัพท์ : (สำนักปลัด) 042-190234 (กองคลัง) : 042-190285

บ้านเหล่า


ผู้เขียน: administrator admin , วันที่: 6 ก.พ. 2567
80, หมวดหมู่:ข้อมูลหมู่บ้าน

ข้อมูลพื้นฐาน

ข้อมูลบุคลากร

แผนพัฒนาท้องถิ่น

แผน ปปท./ควบคุมภายใน/ตรวจสอบภายใน

งานกิจการสภา

การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ

 

ประวัติของหมู่บ้านเหล่า

 

  บ้านเหล่า  ตั้งเมื่อประมาณ พ.ศ.  2463  เดิมอยู่บ้านนาเดื่อ  อำเภอท่าอุเทน  จังหวัดนครพนม  (ในขณะนั้น)  ประชาชนในหมู่บ้าน  เกิดโรคท้องร่วงระบาด จึงอพยพถิ่นฐานลงมาทางทิศใต้มาตั้งบ้านเรือนและตั้งหมู่บ้านว่าบ้านสระแก้ว  ตำบลนาเดื่อ  อำเภอท่าอุเทน  จังหวัดนครพนม  ต่อมาได้แยกย้ายกันทำมาหากิน  จึงได้แยกกันเป็น  2  กลุ่ม  กลุ่มที่  1  ย้ายไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ  ปัจจุบันคือ บ้านนาคำ  อีกกลุ่มหนึ่งย้ายลงมาทางทิศใต้  เรียกหมู่บ้านว่าหมู่บ้านกะแทว  หรือบ้านเหล่าเก่า  (บ้านเหล่าในปัจจุบัน)  ครอบครัวที่ย้ายมามีทั้งหมด  7  ครอบครัว  คือ

  1.  ครอบครัวนายส่วน  สมรฤทธิ์

  2.  ครอบครัวนายเคน  เคนแสง

  3.  ครอบครัวนายจันทา  สมรฤทธิ์

  4.  ครอบครัวนายสุ  สมรฤทธิ์

  5.  ครอบครัวนายนารี  สมรฤทธิ์

  6.  ครอบครัวนายทุม  สมรฤทธิ์

  7.  ครอบครัวนายพรมมี  สมรฤทธิ์

 

บ้านเหล่าตั้งอยู่บริเวณเนินสูง  มีบึงวังสิ้วอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้  ซึ่งบึงแห่งนี้ได้ล่มเมื่อ พ.ศ.  2501  มีเรื่องเล่าขานกันว่า  เมื่อ พ.ศ.  2501  เดือน  10  คืนนั้นฝนตกอย่างแรง  มีลูกเห็บตกโตเท่าก้อนน้ำแข็งหลอด  ฝนตกตลอดคืน แผ่นดินสั่นสะเทือน  รุ่งเช้าทุกคนต่างตกใจพากันออกไปดูบึงวังสิ้วล่มจากแผ่นดินที่มีต้นไม้ซึ่งเป็นป่าเป้าทอง  และมีผืนดินคล้ายๆลอยอยู่บนผิวน้ำ  เวลาเดินเหมือนมีคนไกวเปล  และมีน้ำเป็นบึงเล็กๆ  ซึ่งบึงแห่งนี้ชาวบ้านเล่าว่า  มีอาถรรพ์แม้นกบินผ่านยังตกมาตาย  มีปลาตัวเท่าเสาเรือน  ใครที่นำปลาจากบึงมาเป็นอาหาร  จะมีอาการอาเจียนและตายในที่สุด  น้ำของบึงมีสีเขียวอมน้ำเงินจนชาวบ้านเรียกว่า บึงวังสิ้ว  เพราะสีของน้ำเป็นสีสิ้ว  สีสิ้วคือสีเขียวอมน้ำเงิน  เป็นภาษาที่ชาวญ้อเรียก  จากเหตุการณ์แผ่นดินล่มวันนั้นได้มีกลอนลำซิ่ง  ชาวบ้านแต่งไว้เป็นภาษาพื้นบ้านดังนี้

 

  “ฟังเด้อเจ้าแม่ดอกหมากเฟือง  เว้าพื้นบ้านเมืองบ่คือแต่เก่า

  ตั้งแต่ผู้เฒ่าร้อยปีพันปี  บ่เคยเห็นขี้สนมเพพังม้างเป็นทางจ่งโปง

     เหลียวลงไปทางท่งมันกะมืดอื้อตื้อตันหน้าป่าเป่าทอง

  เอิ้นพี่น้องฮ้องป่าวราษฎร วอนวอนเสียงเอนกอนันต์เขาฮ้อง

                                    หลั่งคนฮ้องเหลืองใจเด้สนมเพกิ้งเกือก

                      สนมฮาวหัวซ้างไหลเข้าเฮ้อนา  กะพากันคั้นโจมเอมโกญนออก

                                  โจมท่าเหล่อกะบ่เพี้ยนไหลเข้าเลื้ออยู่บ่ถอย…” ฯลฯ

 

  บึงล่มเข้าใจว่าสมัยก่อนเคยเป็นหมู่บ้านคนมาก่อน  เพราะจากการที่บึงล่มในครั้งนั้นมีการพบดาบ, ไห, ขวาน, กลักไม้ขีดไฟอลูมิเนียม, กล้องสูบยาดินปั้น  ชาวบ้านได้เก็บไว้ส่วนไหและกลักไม้ขีดไฟทางราชการได้เก็บเข้าพิพิธภัณฑ์

 

ที่ตั้งของหมู่บ้าน

  บ้านเหล่าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดนครพนม  อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ  60  กิโลเมตร  ห่างจากตัวอำเภอศรีสงคราม  13  กิโลเมตร  มีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบสูง  มีป่าสวนยางพาราล้อมรอบหมู่บ้าน

 

อาณาเขตติดต่อ

  ทิศเหนือ  ติดต่อกับบ้านนาคำ

  ทิศตะวันออก  ติดต่อกับบ้านอุ่มไผ่

  ทิศตะวันตก  ติดต่อกับบ้านคำสว่าง

  ทิศใต้  ติดต่อกับบ้านคำสะอาด

 

สถานที่สำคัญของหมู่บ้าน  

  วัดดำดวน  มีพระสงฆ์จำกัดไม่มากนักเฉลี่ยปีละประมาณ  4  รูป  ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่  59  ถนน  รพช.  คำสะอาด – หนองบาท้าว  หมู่ที่  4  ตำบลนาคำ  อำเภอศรีสงคราม  จังหวัดนครพนม  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  มีเนื้อที่  4  ไร่  มีศาสนสถาน  ประกอบด้วยศาลาการเปรียญ  1  หลัง  สร้างเมื่อปี  พ.ศ.  2545  และกุฏิสงฆ์  จำนวน  1  หลัง  เป็นอาคารไม้

 

อาชีพของชาวบ้าน

  สวนยางพารา  การทำสวนยางพาราชาวบ้านเริ่มปลูกครั้งแรกเมื่อประมาณ  ปี  พ.ศ.  2538  โดยกรมส่งเสริมการเกษตร  ตามโครงการ  “อีสานเขียว”  แนะนำชาวบ้านปลูกทดแทนการลักลอบปลูกกัญชาและไร่มันสำปะหลัง  แรกๆ ที่ปลูกไม่กี่ราย  ต่อมาเมื่อสามารถกรีดยางได้  (ประมาณ  8  ปี)  ชาวบ้านส่วนใหญ่เริ่มเห็นผลผลิตรายได้ที่ดีจึงมีการปลูกกันจนเต็มหมู่บ้าน  จนเป็นอาชีพหลักที่ทำรายได้เป็นอันดับหนึ่งของตำบลนาคำ  (นายจันดา  สมรฤทธิ์  ผู้เริ่มปลูกยางพาราคนแรก)

 

ขั้นตอนการผลิตยางพาราแผ่น

  กรีดยางได้น้ำยางดิบ  ผสมน้ำยางดิบและน้ำในอัตราส่วนที่กำหนดในถาดอลูมิเนียม  จากนั้นใช้แผ่นพลาสติดคนให้เข้ากัน  ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ  2  ชั่วโมงจะทำให้ยางพาราเป็นแผ่น  เทแผ่นยางออก  ใช้ท่อนเหล็กขนาดประมาณ  1  เมตรขนาดประมาณ  1  เมตร  กดรีดให้เป็นแผ่นยางหยาบๆ  จากนั้นนำไปรีดด้วยเครื่องรีด  นำไปผึ่งแดดให้แห้งหมาดๆ  ก่อนจะนำไปอบรมควันที่โรงอบยางจนแผ่นยางแห้งสนิท  สีจะเปลี่ยนเป็นสีทองสวยมาก  ทิ้งไว้ประมาณ  1  สัปดาห์  นำมาทับซ้อนกันประมาณ  5-7 แผ่น (แผ่นหนึ่งตกประมาณเกือบ  1  กิโลกรัม)  โรยด้วยแป้งป้องกันการติดกันของแผ่นยางนำออกไปจำหน่ายได้  สถานที่รับซื้ออยู่ที่โรงรับซื้อยางแผ่นบ้านเหล่าท้ายหมู่บ้าน  กระบวนการซื้อขายจะมีการประมูลระหว่างผู้รับซื้อหลายเจ้า  เจ้าไหนให้ราคาดีก็จะได้รับไป  การซื้อขายแต่ละครั้งจะดูที่ราคากลางจากตลาดยางหาดใหญ่  หรือสุราษฎร์ธานีเป็นหลัก  ส่วนผู้ที่จัดการซื้อขายกันเรียกว่า  “กลุ่มเกษตรทำสวนยางพารานาคำ”  ก็จะได้ค่าดำเนินการจากผู้ซื้อขายร้อยละหนึ่งเป็นค่าดำเนินการ  นอกจากจะมีการซื้อขายยางพาราแล้ว ขี้ยางก็เป็นผลพลอยได้ของการกรีดยางพาราอีกอย่าง  คือ  ขี้ยาง  (เกิดจากน้ำยางก้นกระป๋องแห้ง)  สามารถจำหน่ายได้เช่นกัน  การใช้/ประโยชน์จากยางพารา  ใช้ในอุตสาหกรรมทำยาง

  การทำฟาร์มเห็ดบด(เห็ดกระด้าง)  เป็นอีกอาชีพที่ทำรายได้ให้กับเจ้าของฟาร์มอยากมาก  รายได้เฉลี่ยตกเดือนละประมาณ  30,000 – 40,000  บาท / ต่อจำนวน  9 ฟาร์ม  ช่วงที่เห็ดออกผลผลิตอยู่ในระหว่างเดือน  กันยายน – เมษายน  ปัจจุบันเหลือผู้ผลิตและจำหน่ายเพียงเจ้าเดียว คือ ฟาร์มของ นายสมัย – นางถนอม สมรฤทธิ์  อยู่บ้านเลขที่  165  หมู่ที่  14  

 

อัพเดทข้อมูลปัจจุบัน (มกราคม  2558)

  1. นายวิชิต สมรฤทธิ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 โทร 089-2762234

  2. นายจีรยุทธ สมรฤทธิ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 14  โทร 087-8066326

gallery


แตงโมหวานขึ้นชื่อ เลื่องลือลิงป่า ไทญ้อทรงคุณค่า ยางพาราเขียวขจี ข้าวปลามากมี ถิ่นนี้คือนาคำ

181 หมู่ 5 ตำบลนาคำ อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม 48150


โทรศัพท์ : (สำนักปลัด) 042-190234 (กองคลัง) : 042-190285

sarabun@nakam.go.th

© 2024 All rights Reserved.  พัฒนาเว็บไซต์โดย  WWW.PHUDESIGN.COM